ปาเลาเตรียมห้ามใช้ครีมกันแดดเพื่อปกป้องปะการัง
- Gig
- Nov 1, 2018
- 1 min read
ปาเลา หมู่เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิก กำลังจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ห้ามใช้ครีมกันแดดแบบเคมีทั่วประเทศเพื่อให้การคุ้มครองปะการังที่กำลังอยู่ในภาวะถูกคุกคาม
รัฐบาลปาเลาได้ผ่านกฎหมายที่จำกัดการขายและใช้ครีมกันแดดและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณที่มีส่วนประกอบของสารเคมี 10 ชนิดที่นักวิจัยพบว่ามีส่วนทำร้ายสิ่งมีชีวิตในทะเล และทำให้ปะการังมีโอกาสฟอกขาวได้มากยิ่งขึ้น กฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในปี 2020 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า และมีค่าปรับ สำหรับร้านค้าที่ฝ่าฝืน 1,000 เหรียญสหรัฐ
ในแถลงการณ์ของประธานาธิบดี Tommy Remengesau กล่าวว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม
"เจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะยึดครีมกันแดดเหล่านั้นได้ และนั่นน่าจะเพียงพอที่จะปรามการใช้ครีมกันแดดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม"
นักวิทยาศาสตร์ได้แสดงความกังวลถึงผลกระทบของครีมกันแดดต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะสารเคมีสองชนิดคือ Oxybenzone และ Octinoxate ทั้งสองชนิดเป็นส่วนผสมที่พบได้ในครีมกันแดดแบบเคมีทั่วไป และทำหน้าที่ดูดซับรังสีอุลตราไวโอเล็ท
งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2015 พบว่า Oxybenzone ทำให้ปะการังมีโอกาสฟอกขาวได้ง่ายขึ้น ยังยับยั้งการเติบโตของปะการังวัยอ่อน และมีฤทธิ์เป็นพิษต่อปะการังหลากหลายชนิดในห้องปฏิบัติการ
"Oxybenzone หรือ BP-3 น่าจะเป็นตัวที่ร้ายที่สุดในบรรดาสารเคมีทั้ง 10 ชนิดที่ถูกห้ามใช้" Dr Craig Downs นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบของครีมกันแดดต่อสิ่งแวดล้อมในทะเลกล่าว
"มันทำให้ปะการังฟอกขาวในอุณหภูมิที่ต่ำลงหลายองศา ทำให้ปะการังยิ่งมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่งขึ้น ปะการังที่ผ่านปรากฏการณ์ฟอกขาวหลายแห่งทั่วโลกไม่ฟื้นคืนกลับมาอีกเลย"
"พวกปะการังวัยอ่อนยิ่งมีความอ่อนไหวต่อมลภาวะและสารเคมีกว่าปะการังตัวเต็มวัย เราจึงเห็นว่าพื้นที่ที่มีกิจกรรมท่องเที่ยวมากๆ ปะการังไม่ค่อยจะฟื้นตัวกลับคืนมา"
นักวิจัยเห็นตรงกันว่า ภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของปะการังคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีการประมาณว่า ปะการังกว่า 90% อาจล้มหายตายจากไปภายในปี 2050 หากเราไม่สามารถแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนได้ทัน
ภัยคุกคามที่สำคัญรองลงมาคือ น้ำเสียและสภาวะน้ำทะเลเปลี่ยนสีอันเนื่องมาจากสารอาหารและแร่ธาตุต่างๆไหลลงสู่ทะเลมากเกินขนาด
สารเคมีในครีมกันแดดอาจไม่ใช่ภัยคุกคามลำดับต้นๆของปะการัง แต่มีการประมาณว่าในแต่ละปีมีครีมกันแดดถูกชะล้างลงสู่ทะเลมากถึง 6 พัน ถึง หนึ่งหมื่นสี่พันตันทุกปี และกลายเป็นปัญหาของปะการังในแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งทั่วโลก

ทำไมจึงเป็นปาเลา
ปาเลา ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก และประกอบไปด้วยเกาะภูเขาไฟขนาดใหญ่ หนึ่งเกาะ และเกาะเล็กเกาะน้อยอีกมากมาย ซึ่งมีแนวปะการังขึ้นอยู่โดยรอบ
ประเทศปาเลา แม้จะมีขนาดเล็ก แต่มีชื่อเสียงในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยในปี 2015 ได้ประกาศให้พื้นที่ทะเลเกือบทั้งประเทศเป็น พื้นที่คุ้มครองทางทะเล และยังเป็นประเทศที่สองในโลก ต่อจาก ฟิจิ ที่ให้สัตยาบันต่อ ข้อตกลงปารีส ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2016
ปาเลา ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ปะการังอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งดึงดูดด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดของประเทศ การออกกฎหมายห้ามใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีทำร้ายปะการัง เป็นความพยายามล่าสุดในการป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมท่องเที่ยว
การออกกฎหมายดังกล่าวนับเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญล่าสุด หลังจาก หมู่เกาะโบแนร์ในคาริบเบียน และรัฐฮาวาย ของสหรัฐอเมริกา ได้ผ่านกฎหมายแล้วเช่นกันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในขณะที่เม็กซิโกได้ห้ามใช้ครีมกันแดดในเขตสงวนธรรมชาติทุกแห่ง
เรามีทางเลือกอย่างไร
ปัจจุบันมีครีมกันแดดทางเลือกที่เป็นมิตรต่อปะการัง เพราะไม่มีส่วนผสมของสารเคมีหลักสองชนิดดังกล่าว โดยมักบ่งชี้ว่าเป็น ครีมกันแดดที่เป็นมิตรต่อปะการัง Reef-safe แต่นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่าปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนว่า ส่วนผสมของครีมกันแดดแบบใดบ้างจึงจะจัดว่าเป็น "มิตรต่อปะการัง" อย่างแท้จริง
Dr Craig Downs ให้ความเห็นว่า สิ่งแรกที่ทุกคนทำได้ในการปกป้องตัวเราเองจากแสงแดดคือการใส่เสื้อผ้าหรือชุดว่ายน้ำที่สามารถกันแดดได้
"ในแง่การอนุรักษ์ ถ้าคุณใส่เสื้อแขนยาวกันแดด คุณก็ลดการใช้ครีมกันแดดไปได้มากกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว และนั่นเป็นผลดีต่อทะเลแน่ๆ"
ทางเลือกที่ชัดเจนในปัจจุบันคือ เลือกใช้ ครีมกันแดดที่ใช้สินแร่เป็นสารกันแดด โดยเฉพาะ non-nano zinc oxide หรือ titanium dioxide
การที่ปาเลาเอาจริงในการห้ามใช้สารเคมีดังกล่าวในครีมกันแดด ไม่เพียงแต่จะช่วยอนุรักษ์แนวปะการังที่มีความสำคัญทั้งในเชิงระบบนิเวศและเศรษฐกิจ แต่ยังแสดงให้โลกเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลงการปกป้องแสงแดดด้วยวิธีแบบเดิมๆ และมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกมากมายที่ปลอดภัยทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและตัวคุณเอง
Reference: BBC News 1 November 2018
https://www.bbc.com/news/science-environment-46046064
Comments