top of page

ครีมกันแดดแบบไหนไม่ฆ่าปะการัง

  • Writer: Gig
    Gig
  • Mar 1, 2018
  • 1 min read

ข่าวใหญ่เมื่อปลายปีที่แล้วในแวดวงปะการังคือ งานวิจัยใหม่ที่ยืนยันว่าสารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดดมีส่วนทำให้แนวปะการังเสื่อมโทรมลง เพราะสารเคมีเหล่านั้นฆ่าปะการังวัยอ่อน ทำลาย DNA จนปะการังไม่ขยายพันธุ์ และยังทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวอีกด้วย นั่นหมายความว่า เราทุกคนที่ใช้ครีมกันแดดยามเที่ยวทะเลมีส่วนทำร้ายปะการัง

งานวิจัยชิ้นนี้เปิดตัวออกมาในช่วงที่กำลังเกิดปรากฎการณ์ฟอกขาวระดับโลกครั้งใหญ่ที่สุดที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายปี 2014 จนถึงช่วงกลางปี 2016 สร้างความเสียหายให้กับปะการังทั่วโลกโดยเฉพาะที่ออสเตรเลีย จึงยิ่งเกิดคำถามสำคัญว่ามนุษย์จะช่วยปะการังปรับตัวกับสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้อย่างไรบ้าง หรือเราทุกคนกำลังยิ่งซ้ำเติมแนวปะการังที่กำลังอ่อนแอปางตาย

งานวิจัยชิ้นใหม่ยืนยันว่าสารเคมีบางชนิดที่ใช้ในครีมกันแดดมีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลงได้ เพราะฆ่าตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์ และทำให้เกิดปะการังฟอกขาว ภาพโดย ดร.ทนงศักดิ์ จันทร์เมธากุล

นักวิจัยประมาณว่าทุกปีมีครีมกันแดดมากถึง 14,000 ตัน ที่นักท่องเที่ยวใช้ถูกชะล้างลงสู่แนวปะการังในทะเล นอกจากนี้ยังมีครีมและเครื่องสำอางเป็นจำนวนมากปนเปื้อนออกมากับท่อระบายน้ำหลังจากเราชำระล้างร่างกาย คาดกันว่าอาจมีปะการังมากถึง 1 ใน10 ของโลกที่กำลังถูกคุกคามด้วยสารเคมีเหล่านี้ เพราะแนวปะการังส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลสำคัญที่่มีกิจกรรมของมนุษย์

สารเคมีที่นักวิจัยพบว่าฆ่าปะการังและทำให้ปะการังฟอกขาว คือ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate) Octocrylene, 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben ตัวสุดท้ายเป็นวัตถุกันเสียที่ทำให้ปะการังฟอกขาว ตัวที่ร้ายที่สุดคงจะเป็น Oxybenzone หรือ BP3 เพราะรบกวนระบบสืบพันธุ์ ทำให้ตัวอ่อนปะการังโตแบบผิดรูป หรือไม่ก็พิการและตายไปเลย นอกจากนี้ Oxybezone ยังเป็นส่วนผสมที่ใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดกว่า 3,500 ยี่ห้อทั่วโลก

บางคนอาจบอกว่าทะเลตั้งกว้างใหญ่ครีมกันแดดแค่นิดหน่อยจากนักท่องเที่ยวไม่น่าจะสร้างปัญหาได้ แต่สิ่งที่งานวิจัยค้นพบก็คือ สารเคมีแม้ปริมาณเพียงน้อยนิด แค่ 1 หยดต่อสระน้ำมาตรฐาน 6 สระ (62 parts per trillion) ก็ส่งผลกระทบต่อปะการังแล้ว ผลการตรวจค่าความเข้มข้นของ Oxybenzone ตามแนวปะการังที่ฮาวายรอบเกาะ Maui และ Oahu พบว่ามีความเข้มข้นอยู่ระหว่าง 800-19,000 parts per trillion และที่ Virgin Island National Park อยู่ที่ 250,000 parts per trillion นั่นหมายความว่าความเข้นข้นของ Oxybenzone ตามแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในปัจจุบันสูงกว่าระดับปลอดภัยไปมาก และกำลังส่งผลร้ายแรงต่อแนวปะการังดังกล่าวในระยะยาว

ผลกระทบของสารเคมีในครีมกันแดดต่อปะการัง

ภายหลังการประชุมปะการังนานาชาติ ครั้งที่ 13 ที่ฮาวายเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2016 สมาชิกวุฒิสภา Will Espero ของรัฐฮาวายได้ประกาศว่าเขาจะผลักดันกฏหมายห้ามใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของ Oxybenzone ในรัฐฮาวาย ภายในต้นปี 2018 เพื่อเป็นการปกป้องระบบนิเวศทางทะเล “ทะเลของเราคือสิ่งแวดล้อมที่เป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการพัฒนาเศรษฐกิจ การยกเลิกการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังและสัตว์ทะเลอื่นๆเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องผลักดันในการเปิดประชุมสภาสมัยหน้า”

ในขณะที่บ้านเรา การรับรู้เกี่ยวกับผลกระทบของครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารดังกล่าวยังอยู่ในวงจำกัด ยังไม่มีกฎหมายตัวไหนที่ห้ามใช้สารเคมีดังกล่าว ถ้าอย่างนั้นระหว่างนี้เราทำอะไรได้บ้าง

• เลือกครีมกันแดดที่ปลอดภัยต่อแนวปะการัง ประเภท Mineral-based Reef Safe โดยพิจารณาจากส่วนผสมในฉลากของผลิตภัณฑ์ ไม่ใช้ครีมกันแดด ที่มีส่วนผสมของ oxybenzone และ สารเคมีอื่นๆข้างต้น (Octinoxate 4-MBC และButylparaben)

• ใช้ครีมกันแดดแบบกันน้ำ (Water resistant) เพราะอย่างน้อยก็เกิดการชะล้างระหว่างอยู่ในน้ำน้อยกว่า

• ใช้ครีมกันแดดที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ (biodegradable) เพื่อให้แน่ใจว่าสารต่างๆ จะไม่เกิดการตกค้างและย่อยสลายอย่างสมบูรณ์ในธรรชาติ

• ใช้ครีมกันแดดอย่างเหมาะสมไม่มากเกินไปในบางกรณีเราอาจใช้หมวกเสื้อแขนยาวและร่มเพื่อช่วยลดความจำเป็นในการใช้ครีมกันแดดในปริมาณมากๆ

• ช่วยกันบอกต่อเกี่ยวกับผลกระทบของสารเคมีในครีมกันแดดที่มีต่อปะการังและระบบนิเวศในทะเล

ปัจจุบัน PADI หรือสมาคมผู้ฝึกสอนดำน้ำอาชีพ และผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศหลายแห่งแนะนำให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของ Oxybenzone และใช้เฉพาะครีมกันแดดที่ใช้สินแร่เป็นฐาน เช่น Zinc oxide ซึ่งไม่ละลายน้ำและตกตะกอนสู่ก้นทะเลได้อย่างปลอดภัย

ล่าสุดรัฐฮาวายในสหรัฐอเมริกา ประเทศปาเลาในมหาสมุทรแปซิฟิก เกาะโบแนร์ และเกาะอารูบา ของเนเธอร์แลนด์ในทะเลคาริบเบียน ได้ผ่านกฎหมายห้ามจำหน่ายครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่ทำร้ายปะการังแล้ว และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า

หากเราช่วยกันลดผลกระทบจากมนุษย์ในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ไม่เหมาะสมและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่ไม่ทำร้ายปะการังเราย่อมมีส่วนช่วยต่อลมหายใจและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับปะการังหยัดยืนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น

---------------------------

ReReef ได้พัฒนาครีมกันแดดสูตรที่เป็นมิตรต่อปะการังขึ้นโดยเฉพาะของคนไทย โดยอ้างอิงจากงานวิจัยล่าสุดและไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Oxybenzone Octinoxate Octocylene Paraben และอื่นๆ ครีมกันแดด ReReefใช้ Zinc Oxide เป็นสารตัวหลักในการป้องกันแสงแดดร่วมกับ Titanium dioxide ซึ่งเป็นสินแร่ตามธรรมชาติ สามารถป้องกันแดดได้ SPF 50 และย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ในธรรมชาติ พร้อมกับสารสกัดจากธรรมชาติบำรุงผิว เช่น น้ำมันโจโจ้บา Vitamin B3 Vitamin E ว่านหางจระเข้ . ครีมกันแดด ReReef ได้รับการแนะนำโดย UN Environment's Green Fins: Environmentally Friendly Diving and Snorkeling Practices Programme และได้รับเลือกให้ใช้ในโรงแรมและรีสอร์ทชั้นนำหลายแห่งในประเทศไทย มัลดีฟส์และเวียดนาม . ไปเที่ยวทะเลครั้งต่อไป อย่าปล่อยให้ครีมกันแดดของเรามีส่วนทำร้ายทะเล และทำให้ปะการังเสื่อมโทรม .

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสั่งซื้อได้ที่

Komentarze


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square

©2017 BY REREEF.co

bottom of page