ภัยพิบัติอาทิตย์ละครั้ง...โลกไหวเหรอ
- admin
- Jul 20, 2019
- 1 min read

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ (UN) ออกมาเตือนว่าตอนนี้มีเหตุการณ์ภัยพิบัติจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง และต่อไปอาจจะเกิดขึ้นบ่อยจนคนเริ่มชาชิน แต่ความจริงแต่ละเหตุการณ์ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาต้องเตรียมความพร้อมเป็นพิเศษเพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงและต้องใช้เวลายาวนานในการฟื้นฟูตัวเอง . เมื่อเดือนที่แล้วพายุไซโคลน Idai และ Kenneth เข้าถล่มโมซัมบิค รวมทั้งคลื่นความร้อนและภัยแล้งที่อินเดีย รวมทั้งคลื่นความร้อนในยุโรปเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก แต่ยังมีภัยพิบัติอื่นๆ เกิดขึ้นเงียบๆอีกหลายแห่งซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต และต้องมีผู้อพยพจำนวนมาก . เฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมามีปรากฎการณ์อากาศสุดขั้วเกิดขึ้นทั่วโลกเป็นข่าวใหญ่ไม่เว้นแต่ละวัน ไล่ตั้งแต่คลื่นความร้อนที่กำลังส่งผลกระทบหนักในยุโรปและอเมริกา จนนำไปสู่หิมะบนเทือกเขาแอลป์ละลายจนกลายเป็นทะเลสาบ ที่จีนและอินเดียเจอพายุฝนถล่มหนัก รุนแรงในรอบ 10 ปีเกิดน้ำท่วมและผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนแล้ว และยังส่งผลกระทบไปถึงสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานฯ ที่ต้องประสบกับภัยน้ำท่วมด้วยเช่นกัน . “นี่ไม่ใช่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่มันเกิดขึ้นแล้วในวันนี้” ผู้แทน UN ด้านการบรรเทาความเสี่ยงด้านภัยพิบัติกล่าว การเตรียมรับมือวิกฤติการณ์จากสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ปัญหาในระยะยาวอีกแล้ว เราต้องการการลงทุนจากรัฐบาลตั้งแต่วันนี้ “เราจำเป็นต้องพูดคุยกันถึงการตั้งรับปรับตัวและการฟื้นฟูมากกว่านี้” . นักวิชาการประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศในแต่ละปีอยู่ที่ 5.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 15 ล้านล้านบาท!! หากคิดรวมกัน 20 ปีเท่ากับว่าเป็นการสูญเสียรายได้มากถึง 10 ล้านล้านเหรียญ หรือกว่า 300 ล้านล้านบาท!!! ในขณะที่ถ้าหากลงทุนในการเตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคตั้งแต่วันนี้จะเป็นงบประมาณที่น้อยกว่ามาก . ที่ผ่านมาเราอาจพุ่งเป้าไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (climate mitigation) แต่เราคงต้องยอมรับว่าเราไม่อาจหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อีกแล้ว จะรุนแรงมากแค่ไหนเท่านั้นเอง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องลงทุนในเรื่องของการบรรเทาความเสียหาย และการปรับตัวของชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่มีความเสี่ยงด้านต่างๆ อาทิ อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ รายได้น้อย โครงสร้างพื้นฐานเปราะบาง . รัฐบาลสามารถช่วยให้ประชาชนหลีกเลี่ยงภัยพิบัติที่ไม่รุนแรงมากนักได้ด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า โครงสร้างพื้นฐานที่มีความแข็งแรง การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ (เช่นกรณีของญี่ปุ่น) และจับตาพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง . นอกจากนี้รัฐบาลควรหันมาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based solution) เพราะระบบนิเวศธรรมชาติไม่ว่าจะเป็น ป่าชายเลน แนวปะการัง พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ป่าไม้ ล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญในการบรรเทาความเสียหายจากภัยธรรมชาติ หากระบบนิเวศเหล่านี้เสื่อมโทรมก็ต้องยิ่งลงทุนในการฟื้นฟูระบบนิเวศเหล่านี้อย่างเร่งด่วน . ประเทศไทยเองก็พบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่บ่อยครั้งในระยะหลัง ทั้งที่เกิดจากสภาวะโลกร้อน และที่เกิดจากการจัดการที่ผิดพลาด เราโชคดีที่ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่มีระบบนิเวศที่หลากหลายและไม่ค่อยต้องเจอกับลักษณะอากาศแบบสุดขั้วมากนัก . แต่โลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การเตรียมรับมือภัยพิบัติต้องเป็นวาระแห่งชาติ และรัฐบาลต้องยิ่งให้น้ำหนักกับการปกป้องพื้นที่ธรรมชาติที่เหลืออยู่อย่างเคร่งครัด เพราะพื้นที่เหล่านี้คือปราการด่านสุดท้ายทางธรรมชาติที่เอื้อประโยชน์นานัปการกับชุมชนและการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว
อ้างอิง:
Comments