ครีมกันแดด หนึ่งในตัวการฆ่าปะการังในประเทศไทย
- Gig
- Jan 19, 2019
- 1 min read

ผลกระทบจากสารเคมีในครีมกันแดดถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ปะการังในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งในประเทศไทยเสื่อมโทรมลง และได้มีการนำเสนอข้อมูลต่อการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ เมื่อวานนี้ (18 มกราคม) เพื่อหามาตรการในการควบคุมที่เหมาะสมต่อไป
ผศ.ดร ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ เปิดเผยว่า "หลายปีที่ผ่านมา สภาพแนวปะการังของไทยมีแต่เสื่อมลงโดยตลอด จากช่วงปี 2549-51 เรามีปะการังสภาพดี 34% เสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก 37% พอมาช่วงปี 2554-2558 ปะการังสภาพดีถึงดีมากลดฮวบเหลือแค่ 5.7%ปะการังเสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก พุ่งลิ่วกลายเป็น 78.4%"
"ในช่วงเวลาเดียวกันเรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้นเกิน 2 เท่า จาก 13.8 เป็น 30 ล้านคน ปัญหาสำคัญที่สุดคือผลกระทบจากมนุษย์ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ทิ้งสมอ เหยียบปะการัง ให้อาหารปลา จับสัตว์น้ำมาเล่น น้ำเสีย ขยะ และอื่นๆอีกมากมาย รวมไปถึงการใช้ครีมกันแดดในปริมาณมากๆ"
ดร นลินี ทองแถม นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ให้ข้อมูลว่า "แม้สารเคมีที่มีอันตรายในครีมกันแดดอาจจะไม่ได้มีปริมาณมากพอที่จะทำให้ปะการังตายโดยตรง แต่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของปะการัง ทำให้ปะการังอ่อนแอลงและฟื้นตัวจากปัจจัยอื่นๆได้ยากขึ้น โดยเฉพาะหลังเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวอันเกิดจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงผิดปกติ พื้นที่ที่มีลักษณะปิด เช่นอ่าวที่ไม่มีการหมุนเวียนของน้ำมากนัก จะยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้น"
"สารเคมีที่พบในครีมกันแดดทั่วไปโดยเฉพาะ Oxybenzone มีผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของปะการังในภูเก็ต และแนวปะการังที่เป็นแหล่งท่องเที่ยงสำคัญ" ดร.นลินี เสริม
"แม้ในประเทศไทยจะยังไม่มีข้อมูลภาคสนามถึงผลกระทบของ Oxybenzone และสารเคมีตัวอื่นๆในครีมกันแดด แต่ผลการทดลองในห้องปฏิบัติการโดยนักวิจัยต่างประเทศแสดงให้เห็นว่า มีผลเสียต่อปะการังอย่างชัดเจน"
"การลดการใช้ครีมกันแดด อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาทุกอย่าง แต่อย่างน้อยก็ช่วยป้องกันไม่ให้ปะการังอ่อนแอลง ครีมกันแดดจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่เราต้องช่วยกันหลีกเลี่ยงในช่วงที่ทุกฝ่ายพยายามช่วยกันฟื้นฟูปะการังให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์อีกครั้ง" ดร นลินี ทิ้งท้าย
ดร.ธรณ์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า งานวิจัยในระยะหลังมีมากขึ้นและพบว่าครีมกันแดดทั่วไปมีสารเคมีหลายตัวที่ส่งผลกระทบต่อปะการัง โดยเฉพาะตัวอ่อนปะการัง แต่ละปีอาจมีครีมกันแดดถึง 14,000 ตัน ลงไปสู่แนวปะการังทั่วโลก "ยิ่งมองไปข้างหน้า ตัวเลขมีแต่จะเพิ่มสูงมากขึ้น บางรัฐในอเมริกา เช่น ฮาวาย และเกาะบางแห่งในคาริบเบียนเช่นโบแนร์ อารูบา จึงประกาศแบนครีมกันแดดล่าสุด ประเทศปาเลาก็ประกาศแบนครีมกันแดดทั่วไปทั้งประเทศในอีก 2 ปีข้างหน้า"
ดร.ธรณ์ เตือนว่า "การท่องเที่ยวไม่ใช่ผู้ร้าย แต่การท่องเที่ยวอย่างไม่คิดหน้าคิดหลังต่างหากคือผู้ร้าย การท่องเที่ยวอย่างเข้าใจ อย่างรับผิดชอบ อย่างดีงาม นั่นคือพระเอก"
"เราต้องปกป้องปะการังให้ดีกว่านี้ ปัญหาต่างๆของปะการังมีมากพออยู่แล้ว เราจึงไม่ควรไปซ้ำเติมด้วยครีมกันแดดอีก เรื่องนี้ทุกคนช่วยได้ง่ายๆด้วยการงดใช้ครีมกันแดดแบบเคมี สวมเสื้อผ้าแขนยาว ขายาว ใส่หมวก หรือใช้เฉพาะครีมกันแดดแบบ Reef-safe เท่านั้นก็เป็นทางเลือกหนึ่ง"
นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้อธิบายว่าในกรณีของอ่าวมาหยาภายในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี ที่อยู่ระหว่างการปิดการท่องเที่ยวแบบไม่มีกำหนดเพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลและใช้ครีมกันแดดในปริมาณมาก โดยไม่รู้ว่าในท้ายที่สุดสารเคมีเหล่านั้นจะทำร้ายหรือฆ่าประการังไปมากน้อยขนาดไหน"
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ เมื่อวานนี้ รับทราบและจะได้นำเสนอแผนการควบคุมและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ตระหนักถึงผลกระทบที่คาดไม่ถึงของครีมกันแดด
อ้างอิง:
Sunscreen among contributing factors killing Phuket’s coral reefs Phuket News 18 January 2019
Kommentare