top of page

แบรนด์ดังเตรียมทดลองใช้บรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำได้

  • Writer: Gig
    Gig
  • Jan 27, 2019
  • 1 min read

บริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งเช่น Unilever Nestle' และ PepsiCo กำลังจะทดลองให้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้ในบางผลิตภัณฑ์ เพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) และกอบกู้ชื่อเสียงของบริษัทตัวเองในฐานะผู้สร้างมลภาวะ

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นความร่วมมือลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste Platform) ภายใต้ชื่อ Loop โดยมีบริษัท TerraCycle เป็นผู้ประสานงานเบื้องหลัง โครงการนี้ยังอยู่ในระหว่างการเตรียมการ แต่น่าสนใจมาก เพราะเป็นการถามหาความรับผิดชอบจากผู้ผลิต ไม่ใช่โยนภาระมาให้ผู้บริโภคหาทางลดการใช้เพียงอย่างเดียว

บรรจุภัณฑ์แบบใหม่จะถูกออกแบบให้ใช้ซ้ำได้ 100 ครั้งขึ้นไป หากเป็นไปตามแผน ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เราจะมีโอกาสได้เห็นไอศครีม Häagen-Dazs ของเนสเล่ มาในกล่องสแตนเลส แชมพู Pantene ในขวดอลูมิเนียม น้ำส้ม Tropicana ของ เป็ปซี่โค มาในขวดแก้ว Cereal ของ Quaker มาในกระป๋องเหล็ก น้ำยาดับกลิ่น Axe และ Dove มาในขวดอลูมิเนียม และน้ำยาซักผ้า Tide มาในกระป๋องสแตนเลส ซึ่งบรรจุภัณฑ์เหล่านี้จะมีอายุการใช้งานอย่างน้อย 8 ปีก่อนจะถูกนำไปรีไซเคิล

โดยผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทางออนไลน์ จ่ายค่ามัดจำบรรจุภัณฑ์​ และจะได้รับการจัดส่งสินค้าอย่างเป็นสัดส่วนในกระเป๋าผ้าที่เก็บไว้ใช้ได้ เมื่อใช้สินค้าหมดก็จับบรรจุภัณฑ์เปล่าโยนใส่กระเป๋า แล้วโทรเรียกให้บริษัทมารับกลับไป ทำความสะอาด เติมแล้วเอามาส่งให้ใหม่ หรือจะนำไปส่งคืนตามจุดที่รับเช่นไปรษณีย์ หรือตามซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ได้

โมเดลใหม่นี้เป็นไปตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่บริษัทจะต้องออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีคุณภาพดี ทนทานต่อการใช้งานและการขนส่ง สามารถทำความสะอาดได้ง่าย และยังเป็นหลักประกันว่าบรรจุภัณฑ์เหล่านี้จะถูกนำมารีไซเคิลเมื่อหมดอายุการใช้งาน เพราะสุดท้ายแล้วผู้บริโภคจ่ายเงินเพื่อต้องการใช้สินค้า ไม่ได้ต้องการขยะพลาสติกที่มากับสินค้า

ทุกคนรู้จักกันดีถึงหลัก 3R - Reduce Reuse Recycle แต่ที่ผ่านมาภาคธุรกิจและการรณรงค์กับผู้บริโภคมักจะเน้น R ตัวที่สามคือการรีไซเคิลเป็นหลัก (แต่ก็ประสบความสำเร็จน้อยเพราะในภาพรวมบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ถูกนำมาผลิตซ้ำใหม่ไม่ถึงครึ่ง) แต่ความพยายามครั้งนี้เน้น R 2 ตัวแรกคือการลดการใช้ (Reduce) และการใช้ซ้ำ (Reuse)

แทนที่จะรณรงค์ให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตลดการสร้างขยะเพียงฝ่ายเดียว การปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ของผู้ผลิตเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการสร้างขยะที่มากมายเกินความจำเป็นเหล่านี้ตั้งแต่แรก

"บางทีผมก็คิดนะว่ามันเป็นข้อกล่าวหาที่ยุติธรรมมั้ยว่า เราเป็นธุรกิจผู้สร้างขยะ"​ Alan Jope CEO ของ Unilever ให้สัมภาษณ์ การช่วยให้ผู้บริโภคลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเป็นความพยายามที่ช่วยกอบกู้ชื่อเสียงของบริษัทได้แน่นอน

การทดลองในช่วงแรกจะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยจะเริ่มต้นกับลูกค้าประมาณ 5,000 คนในปารีสและนิวยอร์ก ก่อนจะขยายไปที่ลอนดอนในช่วงปลายปี และเมืองอื่นๆอีก 10 แห่งเช่น โตเกียว โตรอนโต ภายในปีหน้า (2020)

"คนมักจะบอกว่าอยากช่วยสิ่งแวดล้อม เราอยากรู้เหมือนกันว่าจริงรึเปล่า" Simon Lowden ประธานบริษัท PepsiCo กล่าว

ในปัจจุบันได้มีความพยายามลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกในรูปแบบของร้านปลอดบรรจุภัณฑ์​ เช่น Zero-waste Store หรือ Refill Station แต่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงคนส่วนใหญ่ เพราะความไม่สะดวกสบายเมื่อเทียบกับการจับจ่ายสินค้าแบบเดิม

"การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ยากมาก คำถามแรกในการพัฒนาโมเดลใหม่คือ ทำไมการใช้แล้วทิ้งถึงได้รับความนิยม ทำไมมันจึงกลายเป็นรูปแบบที่ใครๆก็ใช้ ผมคิดว่าคำตอบคือความสะดวกและราคาที่ถูก"

โมเดลการสั่งสิ้นค้าแบบ Loop พยายามทำให้เกิดความสะดวกสบายกับผู้บริโภคมากที่สุด ไม่ต่างกับการใช้แล้วทิ้ง เพียงแต่เก็บในกระเป๋าผ้าที่ได้รับมา ในส่วนของราคาก็จะใกล้เคียงกับราคาที่จ่ายอยู่ในปัจจุบัน อาจจะมีเพิ่มในแง่ของค่าขนส่ง แต่ก็จะพิจารณาส่วนลดตามประเภทและน้ำหนักของสินค้านั้นๆ

แม้การขนส่งจะมีการสร้างก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบเดิมแล้วพบว่าเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 50-75% และดีกว่าการผลิตใหม่ที่ต้องใช้วัตถุดิบและน้ำมันจำนวนมาก

น่าสนใจที่โมเดลใหม่นี้เป็นความร่วมมือของบริษัทขนาดยักษ์ใหญ่ที่ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก

“ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าเราอยู่ในยุคที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ขยะ แบรนด์ต่างๆ จึงพยายามหาทางออกกับปัญหานี้เช่นกัน"​ Tom Szaky CEO ของบริษัท TerraCycle กล่าว

Reference:

Comments


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square

©2017 BY REREEF.co

bottom of page