ก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในบรรยากาศแตะระดับ 415 ppm แล้ว!!
- Gig
- May 13, 2019
- 1 min read

จะว่าไปนี่คือกราฟที่จะเป็นตัวกำหนดอนาคตลูกหลานของเรา!! ต้องขอบันทึกไว้ว่า ระดับก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (CO2) ได้แตะระดับ 415 part per million (ppm) ไปแล้ว เมื่อเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศบนเขา Mauna Loa ที่ฮาวาย เป็นระดับที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก 3 ล้านปี และยังไม่มีทีท่าจะชะลอตัวแต่อย่างใด เรามีข้อมูลระดับ CO2 ย้อนกลับไปราว 8 แสนปีจากการเจาะแกนน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้ ซึ่งระดับ CO2 ไม่เคยสูงเกิน 300 ppm กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติเคยตั้งเป้าหมายรณรงค์ว่าเราต้องพยายามจำกัดไม่ให้ระดับก๊าซ CO2 เกิน 350 ppm เพื่อป้องกันหายนะที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ตอนนี้มันทะลุเกิน 415 ppm ไปเรียบร้อยแล้ว นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่าเราต้องย้อนกลับไปถึง 3 ล้านปี ในยุคไพลโอซีน (Pliocene) ที่เชื่อว่ามีระดับ CO2 สูงขนาดนี้ ราว 310-400 ppm แต่ในยุคนั้นอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงกว่าปัจจุบัน 2-3 องศาเซลเซียส!! ทุกองศาที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความอยู่รอดของมนุษย์...ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ไต้ฝุ่นรุนแรง น้ำท่วมฉับพลัน ภัยแล้งยาวนาน ไฟป่ามหาประลัย ปะการังฟอกขาว 😫😫 นักวิทยาศาสตร์รู้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทันการณ์ หมายความว่าต้องชะลอและหยุดระดับ CO2 ให้ได้ภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้า เป้าหมายในเวลานี้คือต้องลดการปล่อย CO2 ของทุกประเทศรวมกันลงให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 หรือ อีก 11 ปีข้างหน้า และการปล่อย CO2 จะต้องเป็นศูนย์ (carbon neutral) ภายในปี 2050 หลังปี 2050 อาจจะต้องมีเทคโนโลยี Geoengineering เข้ามาช่วยดูดซับคาร์บอนอีกแรง ให้มีสภาพเป็นคาร์บอนเป็นลบ ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ยุคสมัยเดียวที่อนุญาตให้มนุษย์สร้างอารยธรรมขึ้นมาได้คือ ยุคโฮโลซีน (Holocene) หรือเมื่อประมาณ 1 หมื่นปีที่ผ่านมา ที่สภาพภูมิอากาศค่อนข้างคงที่ หรือผันผวนเพียงแค่ +1 - 1 องศาเท่านั้น (โดยเฉลี่ย) แต่เราได้ผ่านยุคนั้นมาแล้ว เรากำลังอยู่ในยุคแอนโทรโปซีน (Athropocene) ที่มนุษย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เมื่อใดที่ระบบนิเวศป่าไม้ มหาสมุทรและขั้วโลก หลุดสมดุล จนไม่สามารถรองรับความผันผวนนี้ได้อีก หรือผ่าน Tipping point เมือไหร่ โลกก็จะปรับสมดุลตัวเอง สมดุลที่อาจไม่มีมนุษย์อยู่ในสมการ
"What we do over the next 10 years will determine the future of humanity for the next 10,000 years”
ที่มา: Luthi et al.2008 plus Mouna Loa 2019 plotted by Peter Gleick 2019
Comments