ยกสุดท้ายของปะการัง
- Gig
- Jan 6, 2018
- 1 min read

งานวิจัยล่าสุดที่วิเคราะห์ข้อมูลปะการัง 100 แห่งทั่วโลก พบว่าปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวในช่วงหลังเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงกว่าเดิม จนแทบไม่เปิดโอกาสให้ปะการังได้ฟื้นตัว อนาคตของระบบนิเวศที่มีความหลากหลายที่สุดในทะเลกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Science โดย Prof. Terry Hughes แห่งมหาวิทยาลัย James Cook และคณะ พบว่าปรากฎการณ์ฟอกขาวครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นทุกๆ 25-30 ปีในช่วงต้นทศวรรษ 1980s กลับลดสั้นลงเหลือแค่ทุกๆ 6 ปีโดยเฉลี่ยในปัจจุบัน ปรากฎการณ์ฟอกขาวของปะการังเกิดจากน้ำทะเลที่อุ่นผิดปกติ ซึ่งทำให้ปะการังขับไล่สาหร่ายเซลล์เดียวที่คอยผลิตอาหารออกจากตัว จนเหลือแต่โครงสร้างหินปูนขาวเหมือนโดนฟอก ซึ่งหากอุณหภูมิไม่กลับคืนสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว ปะการังส่วนใหญ่ก็จะตายลง "มันเหมือนการขึ้นชกกับนักมวยรุ่นเฮฟวี่เวท คุณอาจจะยืนระยะได้สักยก แต่พอขึ้นยกสอง คุณมีโอกาสถูกน็อคแน่ๆ" Dr Mark Eakin แห่ง NOAA ผู้ดูแลระบบเตือนภัยปะการังฟอกขาว Coral Reef Watch กล่าว "ปรากฎการณ์ฟอกขาวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น สอดรับกับโมเดลสภาพภูมิอากาศที่พยากรณ์ไว้เป๊ะๆ จากสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ภายในกลางศตวรรษนี้ ปะการังส่วนใหญ่ทั่วโลกจะต้องเผชิญกับปรากฎการณ์ฟอกขาวอันเนื่องมาจากอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นของน้ำทะเลเกือบทุกปี ถ้าไม่ทุกปี" แต่ก่อนอาจจะมีช่วงอุณหภูมิลดต่ำลงอันเป็นผลจากปรากฎการณ์เอลนิญโญ-ลานิญญา แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้ ปีที่ควรจะมีอุณหภูมิหนาวเย็น ร้อนกว่า ปีที่ควรจะร้อน เมื่อ 30 ปีที่แล้ว "เดี๋ยวนี้ไม่มีปีที่หนาวเย็นอีกแล้ว (ในทะเล) มีแต่ปีที่ร้อนกับร้อนเกินไป" Dr Eakin กล่าว ปะการังนอกจากจะมีความสวยงามอันนำมาสู่การท่องเที่ยวที่มีมูลค่ามหาศาล ระบบนิเวศประเภทนี้ยังมอบนิเวศบริการให้กับคนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ทั้งในแง่แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และปราการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ งานวิจัยชิ้นนี้เน้นการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวกับผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแนวปะการัง แต่ในปัจจุบันปะการังหลายแห่งอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากผลกระทบของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะ ตะกอนจากการพัฒนาชายฝั่ง และการทำประมงมากเกินขนาด Terry Hughes ผู้เขียนหลักงานวิจัยชิ้นนี้เรียกร้องให้มีความพยายามลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันก็ต้องลดผลกระทบต่างๆ จากกิจกรรมมนุษย์ให้มากที่สุด ภาพ: การสำรวจปะการังภายในอุทยานแห่งชาติสิมิลัน ประเทศไทย อ่านงานวิจัย Spatial and temporal patterns of mass bleaching of corals in the Anthropocene โดย Hughes et al. Science 05 Jan 2018: Vol. 359, Issue 6371, pp. 80-83 ได้ที่ https://goo.gl/EymurZ เรียบเรียงจาก Coral reefs head for 'knock-out punch' BBC News 4 January 2017 https://goo.gl/kTCsPL
Comments