สหภาพยุโรปเดินหน้าแบนพลาสติกใช้แล้วทิ้ง
- Gig
- Mar 28, 2019
- 1 min read

รัฐสภาแห่งสหภาพยุโรปลงมติแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอย่างท้วมท้นด้วยคะแนนเสียง 560 ต่อ 35 เมื่อวันพุธที่ผ่านมา การลงมติดังกล่าวจะทำให้มีผลบังคับใช้ในประเทศสมาชิกทั้งหมด 28 ประเทศ ภายในปี 2021 หรืออีกสองปีข้างหน้า
มาตรการดังกล่าวพุ่งเป้าไปที่พลาสติกใช้แล้วทิ้ง 10 ประเภทที่พบได้บ่อยในทะเล และผู้บริโภคมีทางเลือกอื่น ไม่ว่าจะเป็น หลอดพลาสติก ช้อนส้อมมีดพลาสติก ก้านสำลี ที่คนกาแฟพลาสติก จานชามพลาสติก ก้านสำลี ก้านลูกโป่ง กล่องโฟม และถุงพลาสติกแบบ Oxo-degradable
นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นๆ ในการเพิ่มความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended producer responsibility) เกี่ยวกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สิ้นเปลืองน้อยลง รวมทั้งระบบการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์หลังจากใช้แล้ว โดยเฉพาะ ขวดพลาสติก ภาชนะบรรจุอาหาร ทิชชูเปียก ถุงพลาสติก ก้นกรองบุหรี่ เช่นมีเป้าหมายว่าต้องมีการรีไซเคิลขวดพลาสติกให้ได้ 90% ภายในปี 2025
คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปกล่าวถึงมาตรการดังกล่าวว่าเป็นการแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่มักจะหลุดรอดออกไปสู่ทะเลอย่างเด็ดขาดและจริงจัง มีข้อมูลว่าสหภาพยุโรปรีไซเคิลขยะพลาสติกได้เพียง 1 ใน 4 ของขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น 25 ล้านตันต่อปี
รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป Frans Timmermans "วันนี้เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการกำจัดผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งที่เป็นปัญหาอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปแสดงให้เห็นว่าเราพร้อมแล้วที่จะแก้ปัญหาขยะล้นมหาสมุทรอย่างเด็ดขาดและจริงจัง"
แม้ยุโรปจะไม่ติดอันดับการสร้างขยะทะเล แต่นับเป็นภูมิภาคที่มีความก้าวหน้าที่สุดในการจัดการขยะพลาสติก รวมทั้งหลายประเทศก็มีระบบการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพมากๆ
ได้แต่หวังว่าภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญจริงๆในการสร้างขยะทะเลอย่างอาเซียน (ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซียคือ Top 10 ตัวจริงในแทบทุกการจัดอันดับ) จะบรรลุข้อตกลงและกำหนดเป้าหมายในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมในเร็วๆนี้
Comentarios