งานวิจัยล่าสุดพบไมโครพลาสติกในเต่าทะเลทุกตัว
- Gig
- Dec 11, 2018
- 1 min read

นักวิจัยได้ศึกษาตัวอย่างเต่าทะเลทั้ง 7 ชนิดจำนวนกว่า 100 ตัวจากสามมหาสมุทรและพบว่าทุกตัวมีไมโครพลาสติกในทางเดินอาหาร แสดงให้เห็นถึงปัญหามลภาวะพลาสติกที่แพร่หลายอย่างหนักในทะเล
งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร Global Change Biology โดยทำการศึกษาเต่าทะเลจำนวน 102 ตัว ทั้ง 7 ชนิดในมหาสมุทรแอตแลนติก แปซิฟิก และเมดิเตอเรเนียน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Exeter และ Plymouth Marine Laboratory ในอังกฤษรวมทั้ง Greenpeace Research Laboratories ตรวจหาชิ้นส่วนสังเคราะห์รวมทั้งไมโครพลาสติกในเต่าทะเล 102 ตัวและพบชิ้นส่วนมากกว่า 800 ชิ้น ซึ่งเป็นการประเมินขั้นต่ำเพราะตรวจสอบเฉพาะทางเดินอาหารบางส่วนเท่านั้น นักวิจัยคิดว่าปริมาณชิ้นส่วนแปลกปลอมน่าจะสูงกว่านี้ถึง 20 เท่า
"การปรากฎชิ้นส่วนและเส้นใยสังเคราะห์ในเต่าทุกตัวที่สำรวจแสดงให้เห็นถึงความวิกฤติของปัญหาการใช้พลาสติกอย่างไม่เหมาะสมที่จำเป็นต้องได้รับการจัดการ" นักวิจัย Brendan Godley และอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การอนุรักษ์แห่งมหาวิทยาลัย Exeter กล่าว
นักวิจัยเก็บตัวอย่างด้วยการผ่าซากเต่าทะเลที่เข้ามาเกยตื้นหรือตายจากการติดเครื่องมือประมงโดยไม่ตั้งใจ พื้นที่ศึกษาอยู่ที่นอร์ธแคโรไลนาในสหรัฐอเมริกา ไซปรัส และออสเตรเลีย
นักวิจัยพบชิ้นส่วนสังเคราะห์เหล่านี้ในเต่าทะเลทุกตัว และชิ้นส่วนที่พบบ่อยที่สุดคือ ยาง ก้นบุหรี่ เสื้อผ้า และอุปกรณ์ทางทะเลเช่นเชือกและอวน

David Santillo จาก Greenpeace Research Laboratories ที่มหาวิทยาลัย Exeter กล่าวว่า "เรารู้ดีว่าการติดเครื่องมือประมงและพลาสติกชิ้นใหญ่เป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อเต่าทะเล แต่การที่เราเจอไมโครพลาสติกในเต่าทะเลทุกตัว ในทุกชนิด จากมหาสมุทรทั่วโลก เป็นเรื่องที่น่าวิตกและเผยให้เห็นปัญหาอีกด้านที่รุนแรงของมลภาวะที่เกิดจากพลาสติก"
Emily Duncan หัวหน้าโครงการวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย Exeter ตั้งข้อสังเกตว่าผลกระทบจากไมโครพลาสติกต่อการย่อยอาหารของเต่าเป็นสิ่งที่เรายังไม่ทราบแน่ชัด เพราะชิ้นส่วนเหล่านี้เล็กพอที่จะส่งผ่านทางเดินอาหารของสัตว์ได้ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยเฉพาะการส่งผ่านไวรัสจากไมโครพลาสติกเหล่านี้
"ไมโครพลาสติกอาจปนเปื้อนสารเคมีและนำพาแบคทีเรียหรือไวรัสที่เป็นอันตราย ซึ่งมีผลต่อเซลล์หรือการทำงานในระดับที่เล็กกว่าเซลล์" Emily กล่าว
สิ่งที่ทีมนักวิจัยพยายามศึกษาเพิ่มเติมคือการส่งผ่านสารเคมีที่เป็นพิษของไมโครพลาสติกในสายโซ่อาหาร งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าเมดิเตอเรเนียนมีอัตราการปนเปื้อนสูงสุด แต่นักวิจัยยอมรับว่ายังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนตัวอย่าง
งานวิจัยก่อนหน้านี้ประเมินว่ามีพลาสติกราว 4.8 ถึง 12.7 ล้านตันหลุดรอดออกสู่มหาสมุทรทุกปี และมีขยะพลาสติกมากถึง 5 ล้านล้านชิ้นล่องลอยอยู่ในทะเล
การพบไมโครพลาสติกในเต่าทะเลอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอีกแล้ว เพราะเมื่อไม่นานมานี้ก็พบว่ามีการปนเปื้อนของพลาสติกในอุจจาระของมนุษย์เช่นกัน แนวทางสำคัญในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลคือการลดการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น และป้องกันพลาสติกหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำในบริเวณที่มีความเสี่ยงสูง
Reference:
Global Change Biology 4 December 2018
CNN 5 December 2018
Comments