top of page

ถุงพลาสติกดีกว่าถุงผ้าจริงหรือ??

  • Writer: Gig
    Gig
  • Apr 9, 2019
  • 1 min read

หลังจากมีข่าวเผยแพร่กันว่าถุงผ้าแย่กว่าถุงพลาสติก จึงอยากขอชี้แจง และตอบก่อนเลยว่าไม่จริง!!! ต้นเรื่องความสับสนมาจากการนำเสนองานศึกษาของประเทศเดนมาร์กที่วิเคราะห์ว่าต้องใช้ถุงผ้าซ้ำถึง 7,000-20,000 ครั้งจึงจะคุ้มค่าและสร้างผลกระทบน้อยกว่าถุงพลาสติก จนเกิดการพาดหัวข่าวผิดๆไปทั่วโลกว่า ถุงผ้าทำลายสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่าถุงพลาสติก (ตัวอย่างข่าวที่นำเสนอผลการศึกษาดังกล่าวhttps://bit.ly/2D6Bojo) เพราะการประเมินดังกล่าวคำนวณเฉพาะขั้นตอนการผลิต (production phase) แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบภายหลังการใช้งานแล้ว รายงานดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลจากผลการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตหรือ Life Cycle Assessment (LCA) ของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและอาหาร (Ministry of Environment & Food) ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งงานวิจัยมีผลสรุปที่ว่าถุงที่ทำมาจากผ้าฝ้ายออร์แกนิกทำลายสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่าถุงพลาสติก LDPE เพราะคำนวณแล้วต้องใช้ทรัพยากรในการผลิตมากกว่า และต้องใช้ซ้ำถึง 7,000-20,000 ครั้งถึงจะคุ้มค่ากว่าถุงพลาสติก!! ก่อนที่จะตกใจกับข้อสรุปจากงานวิจัย และเลิกใช้ถุงผ้ากันไปหมด ReReef ขอนำเสนอความคิดเห็นจากคุณภาคภูมิ โกเมศโสภา นักวิจัยด้านความยั่งยืนคนไทยหนึ่งเดียวแห่งบริษัท Metabolic จากเนเธอร์แลนด์ ผู้มีประสบการณ์ในการทำ LCA และ Circular Economy มาไขข้อข้องใจว่าผลการศึกษานี้เชื่อถือได้จริงหรือไม่ สมมติฐานในการประเมินถุงหิ้วในการศึกษานี้คือ คือ “ถุงหิ้วสำหรับใส่ของจ่ายตลาดหรือช้อปปิ้งที่มีปริมาตรความจุ 22 ลิตร รับน้ำหนักได้ 12 กิโลกรัม ตัวถุงถูกผลิตในยุโรปและขนส่งมายังซุปเปอร์มาเก็ตในเดนมาร์ก เมื่อไม่ใช้แล้ว ตัวถุงจะถูกเก็บจากที่ทิ้งโดยระบบการจัดการขยะของเดนมาร์ก” ในขณะที่ถุงผ้าฝ้ายต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากระหว่างกระบวนการผลิต ตั้งแต่การปลูกฝ้ายจนกลายมาเป็นถุง และเหตุที่ถุงผ้าฝ้ายออร์แกนิกจำเป็นต้องใช้ซ้ำ (20,000 ครั้ง) มากกว่าถุงผ้าฝ้ายทั่วไป (7,000 ครั้ง) นั้นเป็นเพราะรายงานประเมินว่า ฝ้ายออร์แกนิกนั้นให้ผลผลิตน้อยกว่าฝ้ายทั่วไป 30 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรอย่างน้ำในการผลิตมากกว่าถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ถุงผ้าฝ้ายออร์แกนิกจึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในการผลิต สมมติฐานที่กำหนดปริมาตรและน้ำหนัก ทำให้ถุงชนิดใดก็ตามที่มีค่าเฉลี่ยปริมาณความจุไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าวต้องถูกคิดคำนวณเปรียบเทียบที่ 2 ใบ (ขณะที่ถุงพลาสติก LDPE ที่ใช้เป็นตัวเปรียบเทียบ ประเมินโดยคิดจากถุงใบเดียว) ในกรณีนี้ ถุงฝ้ายออร์แกนิกที่มีปริมาตรความจุเฉลี่ยอยู่ที่ 20 ลิตร และบรรจุของได้หนักมากถึง 50 กิโลกรัม (มากกว่าถุงพลาสติก LDPE ถึง 4 เท่า) ก็ถูกพิจารณาที่ 2 ถุง นับว่าเสียเปรียบในการคำนวณมากทีเดียว รายงานให้ข้อสรุปการประเมิน LCA ระหว่างถุง LDPE (ถุงอ้างอิง) และถุงผ้าฝ้ายออร์แกนิกว่า หากคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทุกประเภทแล้ว เราต้องใช้ถุงผ้าฝ้ายออร์แกนิกถึง 20,000 ครั้งจึงจะทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าถุง LDPE อย่างไรก็ดี ผลทบกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ได้ข้อสรุปตัวเลขสูงถึง 20,000 ครั้ง มาจากการพิจารณาเรื่องการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนโลก หรือ Ozone Depletion (OD) ซึ่งจริงๆแล้วเป็นผลกระทบที่คลายความกังวลไปมากแล้ว เพราะชั้นบรรยากาศโอโซนฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถ้าหากพิจารณาเพียงผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเราจะใช้ถุงผ้าฝ้ายออร์แกนิกเพียงแค่ 152 ครั้งเท่านั้นจึงจะมีผลกระทบน้อยกว่าถุง LDPE ซึ่งหากเราใช้ถุงผ้าวันละครั้งในทุกวันตลอดปี เท่ากับว่าเพียงแค่ 5 เดือน ถุงผ้าของเราก็สร้างผลกระทบน้อยกว่าถุงพลาสติกแล้ว หากเรามองในบริบทประเทศไทยที่มีการแจกถุงพลาสติกให้ทุกครั้งที่ซื้อของ เราอาจใช้เวลาน้อยกว่าห้าเดือนก็เป็นได้ ยิ่งไปกว่านั้นหากเราพิจารณาว่าเพียงถุงผ้าออร์แกนิกเพียงถุงเดียวแทนที่จะเป็นสองถุงตามที่งานวิจัยนี้ได้กำหนด เราต้องใช้ถุงนั้นติดต่อกันเพียงไม่ถึง 2 เดือนครึ่งเท่านั้น นอกจากนี้งานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่ได้รวมประเด็นทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ได้แก่ ผลกระทบจากไมโครพลาสติกและผลกระทบที่เกิดกับสัตว์ที่กลืนกินหรือพลาสติกติดพันร่างกาย อันเป็นผลกระทบที่กว้างขวางมากของถุงพลาสติกอันเกิดจากระบบการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ ประเด็นสำคัญจึงไม่ใช่การปฏิเสธการใช้ถุงผ้า แล้วกลับไปใช้ถุงพลาสติกใ้ช้แล้วทิ้งแบบเดิม แต่ควรใช้ถุงผ้าที่มีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมสูงกว่าให้คุ้มค่าที่สุด เพื่อไม่ให้ถุงผ้ากลายเป็นของเหลือใช้ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นขยะอีกแบบเช่นกัน

อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/2WTs6ii ภาพจากรายงานข่าวของ Voice TV

Comments


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square

©2017 BY REREEF.co

bottom of page