top of page

UN เตือนให้หยุดทำลายธรรมชาติก่อนมนุษย์จะสูญพันธุ์

  • Writer: Gig
    Gig
  • May 1, 2019
  • 1 min read

Ulet Ifansasti/Greenpeace

รายงานใหม่ล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างประเทศสำคัญสองฉบับของสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยข้อมูลสำคัญว่ามนุษย์กำลังทำให้สิ่งมีชีวิตมากถึง 1 ล้านชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และกำลังทำลายระบบนิเวศต่างๆซึ่งเป็นเครื่องค้ำจุนชีวิตของมนุษย์เอง

ผู้แทนจาก 132 ประเทศเข้าร่วมประชุมพร้อมกันอาทิตย์นี้ที่กรุงปารีสเพื่อให้ความเห็นต่อรายงานการประเมินสถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์ครบถ้วนที่สุด ที่จัดทำโดยคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศบริการ (Intergovernmental Panel for Biodiversity and Ecosystem Services หรือ IPBES)

บทสรุปของรายงานซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับการรับรองภายในสัปดาห์หน้า (6 พ.ค.) เตือนว่าภัยจากการคุกคามทำลายธรรมชาติที่ทำให้สิ่งมีชิตมากถึง 1 ล้านชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์กำลังส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของมนุษย์อย่างน่ากลัวไม่แพ้ภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ในปัจจุบันสูงกว่าที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลกหลายร้อยเท่า และสิ่งมีชีวิตราว 5 แสน-1ล้านชนิดกำลังถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ จากจำนวนสิ่งมีชีวิตราว 8 ล้านชนิดที่คาดว่าพบบนโลก

ไม่เพียงแค่สิ่งมีชีวิตหลายชนิดจะสูญพันธุ์เท่านั้น แต่ในเชิงจำนวนก็ลดลงอย่างมาก โดยคาดว่าเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูดด้วยนมมีปริมาณลดลงถึง 82% โดยในปัจจุบันสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีจำนวนมากที่สุดก็คือ มนุษย์ และปศุสัตว์ทั้งหลาย

ระบบนิเวศทั่วโลกที่เสื่อมโทรมส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างชัดเจน ตั้งแต่การขาดแคลนอากาศที่สะอาดบริสุทธิ์ น้ำดื่มที่ปลอดภัย การลดลงของป่าที่ดูดซับคาร์บอนไดอ็อกไซด์ แมลงที่ทำหน้าที่ผสมเกสร ปลาในทะเลที่หายไป ไปจนถึงการหายไปของป่าชายเลนและแนวปะการังที่ทำหน้าที่ปกป้องชายฝั่งทะเล

"เราต้องเข้าใจว่าภัยจากการสูญเสียธรรมชาติสำคัญพอๆ กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้น เพราะธรรมชาติไม่ได้มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและความอยู่รอดของมนุษย์" Robert Watson ประธาน IPBES กล่าว

"การผลิตอาหารและแหล่งพลังงานของเราในปัจจุบันคือตัวการสำคัญในการทำลายธรรมชาติและกลไกในการควบคุมสมดุลของสภาพภูมิอากาศ เราต้องการการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบที่นำไปสู่รูปแบบใหม่ (Transformative change)"

ข้อมูลในรายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า 75% ของระบบนิเวศทางบก 40% ของระบบนิเวศทางทะเล และ 50% ของระบบนิเวศน้ำจืด ถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

ปัจจัยคุกคามที่สำคัญที่ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพตามลำดับคือ การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การล่าเพื่ออาหาร และการลักลัอบค้าอย่างผิดกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลภาวะ และชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

เมื่อต้นปี องค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติ (FAO) ก็เปิดตัวรายงานสำคัญเรื่อง สถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพต่ออาหารและเกษตรกรรม (The Stae of the World's Biodiversity for Food and Agriculture) ซึ่งรวบรวมโดยนักวิทยาศาสตร์กว่า 175 คนโดยใช้ข้อมูลจาก 91 ประเทศ และองค์กรนานาชาติ 27 แห่ง

รายงานฉบับดังกล่าวเปิดเผยให้เห็นว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพกำลังคุกคามภาคการเกษตรและการผลิตอาหารของมนุษย์ซึ่งมีผลต่อชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ของโลก โดยเฉพาะแมลงที่ทำหน้าที่ผสมเกสร และการเสื่อมสภาพของดิน

ในขณะที่มีพืชกว่า 6,000 ชนิดถูกนำมาเพาะปลูกเป็นอาหารในภาคการเกษตร แต่มีเพียง 200 ชนิดเท่านั้นที่ถูกนำมาใช้ผลิตเป็นอาหารอย่างจริงจัง และพืชเพียง 9 ชนิดเท่านั้นคิดเป็น 66% ของผลผลิตทั้งหมด ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาการทำเกษตรเชิงเดี่ยว

ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นปัจจัยค้ำจุนสำคัญของภาคการผลิตอาหาร รัฐบาลจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืนมากขึ้น

อ้างอิง

https://www.straitstimes.com/world/un-report-stresses-urgent-need-for-nature-rescue-plan

https://www.bbc.com/news/science-environment-48059043

http://www.fao.org/state-of-biodiversity-for-food-agriculture/en/

https://www.theguardian.com/environment/2018/nov/03/stop-biodiversity-loss-or-we-could-face-our-own-extinction-warns-un

Comments


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square

©2017 BY REREEF.co

bottom of page