ทำไมการเก็บเงินค่าถุงจึงได้ผลกว่าการลดราคาหรือสะสมแต้ม
- Gig
- Nov 29, 2018
- 1 min read

สองภาพนี้ถ่ายจากซุปเปอร์มาร์เก็ตในเมืองวิกตอเรียประเทศแคนาดาที่อยู่ห่างกันไม่ถึง 5 นาที สิ่งที่ต่างกันคือ ไม่นานมานี้ร้านซ้ายมือเพิ่งมีมาตรการตามบัญญัติใหม่ของเขต คือถ้าไม่เอาถุงมา ลูกค้าจะต้องซื้อถุงในราคาราว 4 บาท ส่วนร้านข้างขวาอยู่คนละเขตจึงยังใช้มาตรการเดิมคือแจกถุงฟรี แต่ถ้าเอาถุงมาเองจะได้ลดราคาประมาณ 3 บาท (หรือได้แต้มสะสมแบบบ้านเรา)
ปรากฎว่าภายใน 2-3 เดือนลูกค้าที่มาซื้อของร้านแรกหันมาพกถุงมาเองจากบ้านเกือบร้อยละ 80 ส่วนร้านขวายังเห็นคนที่ใช้ถุงพลาสติกกันเป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆที่ถ้าเอาถุงมาเองก็ได้ส่วนลดแทบไม่ต่างกันเท่าไหร่
นักวิทยาศาสตร์เชิงพฤติกรรมอธิบายปรากฎการณ์นี้ว่า เพราะคนเราส่วนใหญ่เป็นพวกไม่อยากสูญเสีย (loss aversion) การต้อง “เสีย” อะไร จึงมีน้ำหนักกว่าการ “ได้” อะไรมาเกือบสองเท่า
อีกอย่างก็คือคนเราชอบที่ไม่ต้องตัดสินใจ หมายความว่าถ้ามันเป็นสิ่งที่ถูกกำหนด (Default) ก็จะเลือกอย่างนั้น แทนที่จะเลือกสิ่งที่เป็นทางเลือก (Opt out) แม้รู้ทั้งรู้ว่าทางเลือกอีกแบบเป็นสิ่งที่ดีกว่าก็ตาม
ตัวอย่างเช่นถ้าร้านยังคงแจกถุงพลาสติก หลอดพลาสติก หรือใช้แก้วพลาสติก การบอกปฏิเสธจึงเพิ่มขั้นตอนความยุ่งยากอีกหนึ่งขึ้น แค่การเผชิญหน้ากับน้องแคชเชียร์แล้วบอกเสียงดังฟังชัดว่า “ไม่เอาถุง ไม่เอาหลอด ไม่เอาฝาพลาสติก” มันเป็นเรื่องที่ขัดกับสัญชาตญานความขี้เกียจตัดสินใจของมนุษย์
ถ้าระบบปกติไม่แจกถุง ไม่แจกหลอด แต่คนที่อยากจะใช้ต้องขอเอง (on request) เราก็จะเห็นอัตราการใช้พลาสติกพวกนี้ลดลงไปทันทีแทบจะครึ่งต่อครึ่ง เพราะคนขี้เกียจขอนั่นเอง
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือธรรมเนียมปฏิบัติของคนส่วนใหญ่ (Social norm) เมื่อคนหมู่มากไม่มีใครใช้ถุงพลาสติก คนอื่นๆ ก็ไม่มีใครอยากแปลกแยก (Peer pressure) ซึ่งคราวนี้สามารถใช้การสื่อสารเชิงบวกตอกย้ำพฤติกรรมที่เหมาะสมด้วยเหตุผลดีๆนานัปการว่าสิ่งที่คุณทำนั้นมันถูกต้องแล้ว
การแก้ปัญหาขยะพลาสติกในบ้านเราที่ผ่านมา มักจะเน้นแต่การสร้างจิตสำนึก ซึ่งถ้ามองในภาพรวมก็จะเห็นได้ว่าไม่ยั่งยืนและไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ลองมาตั้งต้นกันใหม่และเข้าใจมนุษย์ที่มีความขี้เกียจเป็นเดิมพัน บางทีเราอาจจะแก้ปัญหานี้ได้ ไม่ยากเลย 😅😅
Comments